ไทแรนโนซอรัส : Tyrannosaurus

ไทแรนโนซอรัส
ไทแรนโนซอรัส หรือ ทิแรนโนซอรัส (ชื่อวิทยาศาสตร์: Tyrannosaurus แปลว่า กิ้งก่าทรราชย์ มาจากภาษากรีก) เป็นสกุลหนึ่งของไดโนเสาร์ประเภทเทอโรพอด ชนิดเดียวที่เป็นที่รู้จักในสกุลนี้คือ ไทแนโนซอรัส เรกซ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Tyrannosaurus rex; rex แปลว่า ราชา มาจากภาษาละติน) หรือเรียกอย่างย่อว่า ที. เรกซ์ (T. rex) เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ มีถิ่นอาศัยตลอดทั่วตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกา ซึ่งกว้างกว่าไดโนเสาร์วงศ์เดียวกัน ไทแรนโนซอรัสอาศัยอยู่ในยุคครีเทเซียสตอนปลายหรือประมาณ 68 ถึง 65 ล้านปีมาแล้ว เป็นหนึ่งในไดโนเสาร์พวกสุดท้ายที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนก ซึ่งมีชีวิตอยู่ก่อนการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่สามในยุคครีเทเชียส
ไทแรนโนซอรัสเป็นสัตว์กินเนื้อ เดินสองขา มีกะโหลกศีรษะที่ใหญ่ และเพื่อสร้างความสมดุลมันจึงมีหางที่มีน้ำหนักมาก มีขาหลังที่ใหญ่และทรงพลัง แต่กลับมีขาหน้าขนาดเล็ก มีสองกรงเล็บ ถึงแม้ว่าจะมีไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่าไทแรนโนซอรัส เรกซ์ แตมันก็มีขนาดใหญ่ที่สุดในไดโนเสาร์วงศ์เดียวกันและเป็นหนึ่งในผู้ล่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนพื้นพิภพ วัดความยาวได้ 13 ม. สูง 4 ม. จากพื้นถึงสะโพก และอาจหนักถึง 6.8 ตัน ในยุคสมัยของไทแรนโนซอรัส เรกซ์ที่ยังมีนักล่าขนาดใหญ่ชนิดอื่นๆนั้น ไทแรนโนซอรัส เรกซ์อาจเป็นนักล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร เหยื่อของมันเช่น แฮโดรซอร์และ เซอราทอปเซีย เป็นต้น ถึงแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าโดยพื้นฐานแล้วไทแรนโนซอรัส เรกซ์เป็นสัตว์กินซาก การถกเถียงในกรณีของไทแรนโนซอรัสว่าเป็นนักล่าหรือสัตว์กินซากนั้นมีมานานมากแล้วในหมู่การโต้แย้งทางบรรพชีวินวิทยา
ไทแรนโนซอรัสเป็นไดโนเสาร์ที่โด่งดังที่สุดในโลก ด้วยฐานะไดโนเสาร์กินเนื้อที่ตัวใหญ่ที่สุด ก่อนจะเสียอันดับให้ คาร์ชาโรดอนโทซอรัส และ จิกแกนโนโตซอรัส และ ปรากฏตัวในภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น จูราสสิค พาร์ค ไดโนเสาร์ทีเรกซ์ ชื่อซู (Sue) เป็นโครงกระดูกไดโนเสาร์ทีเรกซ์ ที่มีความสมบูรณ์ที่สุด มีขนาดลำตัวยาวกว่า 12.8 เมตร และความสูงถึงสะโพก 4 เมตร โดยตั้งชื่อมาจากซูฃานนักธรณีวิทยาที่ค้นพบ ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Field Museum ที่ชิคาโก ในปี 2549 ซูได้เป็นตัวเอกหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (Natural History Museum) ชื่อ Night at the Museum ของ ชอน เลวี่ (Shawn Levy) มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับสิ่งต่างๆในพิพิธภัณฑ์ที่ต้องคำสาปให้กลับมีชีวิตขึ้นมาในตอนกลางคืน

กายวิภาค

ตัวอย่างของไทแรนโนซอรัส เรกซ์หลายๆตัวอย่างเปรียบเทียบกับมนุษย์
การเปรียบเทียบขนาดของไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่, ไทแรนโนซอรัส เรกซ์มีสีม่วง
ไทแรนโนซอรัส เรกซ์เป็นหนึ่งในไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ ตัวอย่างขนาดใหญ่ที่สุด สมบูรณ์ที่สุด มีชื่อว่า FMNH PR2081 หรือ "ซู" (Sue) มีความยาว 12.8 ม. สูงจากพื้นถึงสะโพก 4 ม. มีน้ำหนักประมาณ 7.2 ตัน หรือน้อยกว่า 4.5 ตัน ซึ่งในปัจจุบันมีการประมาณกันว่าอยู่ในช่วง 5.4 ถึง 6.8 ตัน ถึงแม้ว่าไทแรนโนซอรัส เรกซ์จะมีขนาดใหญ่กว่าไดโนเสาร์กินเนื้อในยุคจูแรสซิกอย่างอัลโลซอรัส แต่ก็ยังเล็กกว่าสไปโนซอรัสและจิกแกนโนโตซอรัสซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินปลาและกินเนื้อตามลำดับ
คอของไทแรนโนซอรัส เรกซ์งอโค้งเป็นรูปตัวเอสตามธรรมชาติเหมือนไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดอื่นๆ แต่มีขนาดสั้นและล่ำสันเพื่อรองรับหัวที่มีขนาดใหญ่ ขาหน้ามีสองกรงเล็บและว่ากันว่าไว้ใช้พยุงตัวกับกระดูกขนาดเล็กที่เป็นส่วนที่หลงเหลือของนิ้วที่สาม แต่ขาหลังกลับยาวที่สุดเมื่อเทียบตามสัดส่วนของร่างกายในไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดต่างๆ หางยาวและมีน้ำหนักมาก อาจมีกระดูกมากกว่า 40 ชิ้น ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างให้สมดุลกับหัวที่มีขนาดใหญ่และลำตัวของมัน เพื่อชดเชยขนาดที่ใหญ่โต กระดูกหลายชิ้นจึงกลวงเพื่อลดน้ำหนักตัวลงโดยไม่สูญเสียความแข็งแรงไป
กะโหลกศีรษะของไทแรนโนซอรัส เรกซ์ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบมีความยาว 1.5 ม. โพรงช่องเปิดขนาดใหญ่ในกะโหลกศีรษะมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักตัวและเป็นที่อยู่ของกล้ามเนื้อที่ยึดติดในกะโหลกเหมือนในไดโนเสาร์กินเนื้อทุกชนิด แต่ในส่วนอื่นของกะโหลกไทแรนโนซอรัสแตกต่างจากไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดอื่น กะโหลกมีขนาดกว้างในส่วนด้านหลังและแคบลงไปทางจมูกเพื่อให้การเห็นเป็นภาพเดียวด้วยสองตาได้ดีเป็นพิเศษ กะโหลกศีรษะ กระดูกจมูก และกระดูกอีกสองสามชิ้นเชื่อมต่อกัน เพื่อป้องกันการการเคลื่อนตัวของกระดูก แต่ก็เป็นโพรงอากาศจำนวนมาก (ประกอบไปด้วยช่องว่างขนาดเล็กคล้ายรังผึ้ง) ซึ่งอาจทำให้กระดูกมีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นและเบาขึ้น กระดูกที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเหล่านี้เป็นเป็นโครงสร้างสำคัญของวงศ์ไทรันโนซอริดี (Tyrannosauridae) ทำให้การกัดทรงพลังขึ้นซึ่งเหนือกว่าไดโนเสาร์กินเนื้อวงศ์อื่น ปลายของขากรรไกรบนเป็นรูปตัวยู (ไดโนเสาร์กินเนื้อวงศ์อื่นส่วนมากมีขากรรไกรบนเป็นรูปตัววี) ซึ่งช่วยเพิ่มจำนวนของเนื้อเยื่อและกระดูกที่ไทแรนโนซอรัสกัดออกมาได้ในหนึ่งครั้ง ถึงแม้ว่าจะเพิ่มแรงตึงเครียดบนฟันหน้าด้วยก็ตาม

ฟันของไทแรนโนซอรัส เรกซ์เป็นแบบเฮเทอโรดอนต์ (มีลักษณะรูปร่างต่าง) ฟันหน้าบนขากรรไกรบนเบียดชิดกันมากเป็นฟันตัด (ปลายฟันเหมือนกับใบมีด) มีรูปร่างเป็นตัวดีเมื่อตัดขวาง เสริมด้วยสันบนผิวด้านหลัง และโค้งไปด้านหลัง ซึ่งลักษณะเหล่านี้ช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้ฟันหักเมื่อไทแรนโนซอรัสกัดและดึง ส่วนฟันที่เหลือแข็งแรงทนทานมาก มีลักษณะคล้ายกล้วยหอมมากกว่ากริช อยู่ห่างกันมากและมีสันเสริมด้วยเช่นกัน ฟันบนขากรรไกรบนจะใหญ่กว่าฟันบนขากรรไกรล่าง ฟันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ ยาวประมาณ 30 ซม (12 นิ้ว) รวมรากฟัน ซึ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาไดโนเสาร์กินเนื้อ
จากผลการศึกษาในช่วงที่ผ่านมา โดยทีมนักวิทยาศาสตร์อังกฤษ ได้มีการพบว่า ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีพลังคมเขี้ยวแข็งแกร่งที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีมา โดยมีกำลังความแรงอยู่ที่ระหว่าง 30,000 ถึง 60,000 นิวตัน ซึ่งเทียบเคียงได้เท่ากับช้างขนาดกลางหนึ่งเชือกที่กำลังนั่งทับตัวคน ซึ่งต่างจากการประมาณการที่ผ่านมาที่ระดับ 8,000 ถึง 13,000 นิวตันเท่านั้น

การจำแนก

ไทแรนโนซอรัสเป็นสกุลต้นแบบของวงศ์ใหญ่ไทรันโนซอรอยเดีย (Tyrannosauroidea), วงศ์ไทรันโนซอริดี, และวงศ์ย่อยไทรันโนซอริมี (Tyrannosaurinae) หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือเป็นมาตรฐานสำหรับนักบรรพชีวินวิทยาตัดสินใจว่าจะเพิ่มสปีชีส์อื่นลงไปในกลุ่มเดียวกันหรือไม่ สมาชิกอื่นๆของวงส์ย่อยไทรันโนซอริมีก็มี ดัสเพลททอซอรัส (Daspletosaurus) จากอเมริกาเหนือและ ทาร์บอซอรัส (Tarbosaurus) จากทวีปเอเชีย ซึ่งในบางครั้งทั้งสองก็ถูกจัดเป็นชื่อพ้องของไทแรนโนซอรัส มีการคิดกันว่าไดโนเสาร์พวกไทแรนโนซอรัสนั้นเป็นลูกหลานของไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่อย่างเมกะโลซอรัส (megalosaurs) และคาร์โนซอร์ (carnosaurs) ถึงแม้ว่าเมื่อเร็วๆนี้มีการจำแนกใหม่ว่าไทแรนโนซอรัสเป็นซีลูโรซอร์ (coelurosaurs) ที่มีขนาดเล็กกว่า
ในปีค.ศ. 1955 นักบรรพชีวินวิทยาชาวสหภาพโซเวียตที่ชื่อ เอฟเจนนี มอลวีฟ (Evgeny Maleev) ได้ตั้งชื่อไดโนเสาร์ชนิดใหม่จากประเทศมองโกเลียว่า Tyrannosaurus bataar แต่ในปีค.ศ. 1965 ไดโนเสาร์ชนิดนี้ได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่า Tarbosaurus bataar สาเหตุของการตั้งชื่อใหม่นี้ เนื่องมาจากการวิเคราะห์วงศ์วานวิวัฒนาการพบว่า Tarbosaurus bataar มีบรรพบุรุษร่วมกันแบบมีลำดับชั้นกับTyrannosaurus rex และบ่อยครั้งมันได้รับการพิจารณาเป็นไทแรนโนซอรัสแห่งทวีปเอเชีย แต่เมื่อเร็วๆนี้ การศึกษากะโหลกศีรษะของ Tarbosaurus bataar พบว่ากะโหลกแคบกว่าของไทแรนโนซอรัส เรกซ์และเมื่อกัด การกระจายตัวของความเครียดในกะโหลกก็แตกต่างกันกับไทรันโนซอร์ของเอเชียชนิดอื่นๆ ใกล้เคียงกับ Alioramus มากกว่า เมื่อวิเคระห์ความสัมพันธ์ในกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่มีบรรพบุรุษร่วมกันแบบมีลำดับชั้น พบว่า Alioramus น่าจะมีบรรพบุรุษร่วมกันแบบมีลำดับชั้นของ Tarbosaurus มากกว่าจะเป็นไทแรนโนซอรัส ซึ่งถ้าเป็นความจริงก็ควรจะแยก Tarbosaurus และไทแรนโนซอรัสออกจากกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น